รองเท้าฟุตบอล หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ รองเท้าสตั๊ด ” ถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของนักฟุตบอลในสนามแข่ง วันนี้ Footyboy มีวิธีการเลือกซื้อรองเท้าฟุตบอลที่ใช้ในสนามประเภทต่าง อาทิ สนามฟุตบอลหญ้าจริง สนามฟุตบอลหญ้าเทียม สนามฟุตซอล ฯลฯ เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกซื้อรองเท้าฟุตบอลไว้สำหรับในการแตะฟุตบอลของทุก ท่านกันครับ
ประการแรก เราจะต้องพิจารณาจากจำนวนปุ่มที่อยู่ใต้พื้น รองเท้าฟุตบอล หรือที่เรียกกันว่า “ปุ่มสตั๊ด” ซึ่งจำนวนและประเภทของเจ้าปุ่มที่ว่านี้ มีความสำคัญมาก เนื่องจากเจ้าปุ่มสตั๊ดมีผลต่อการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ และการยึดเกาะบนพื้นสนาม ขณะเล่นฟุตบอลด้วย ดังนั้นการเลือกประเภทของปุ่มสตั๊ด จำเป็นจะต้องคำนึงถึงลักษณะของสนามที่จะลงเล่นเป็นสำคัญ เพราะปุ่มสตั๊ด แต่ละประเภทได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับพื้นผิวของสนาม ที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. SG (Soft Ground) เป็นปุ่มสูง ส่วนใหญ่จะเป็นปุ่มเหล็กยาวจำนวน 6 ปุ่ม/ข้าง สามารถถอดเปลี่ยนปุ่มได้ ปุ่ม SG (Soft Ground) ถูกออกแบบมาสำหรับ พื้นสนามฟุตบอลที่ดินมีความนุ่มมากๆและหญ้าสูง หรือ สนามที่แฉะมากๆ ส่วนใหญ่นักฟุตบอลหรือนักรักบี้ในต่างประเทศจะนิยมใช้ เช่น ในพรีเมียร์ลีก เนื่องจากประเทศอังกฤษฝนตกบ่อย ทำให้สนามลื่น ต้องใส่รองเท้าที่สามารถจิกพื้นได้ดี
ข้อแนะนำ : ไม่เหมาะที่จะใส่เล่นในสนามเมืองไทย และ หญ้าเทียม เพราะอาจจะทำให้ข้อเท้าพลิกได้
2. FG (Firm Ground) จะมีลักษณะของปุ่มสตั๊ด ประมาณ 12 – 15 ปุ่ม/ข้าง โดยปุ่มลักษณะนี้ปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้มีมากมายหลายรูปแบบทั้งปุ่มกลม และ ปุ่มใบมีด โดยปุ่ม FG (Firm Ground) ถูกออกแบบมาสำหรับเล่นในสนามหญ้าทั่วๆไปที่พื้นสนามมีดินไม่แข็งหรือไม่นิ่มมาก และ หญ้าไม่สูงเกินไป ซึ่งเหมาะกับสนามในเมืองไทยในปัจจุบัน
ข้อแนะนำ : เหมาะที่จะใส่เล่นในสนามหญ้าเมืองไทย และ หญ้าเทียม หาซื้อง่าย
3. HG (Hard Ground) จะมีลักษณะของปุ่มสตั๊ดมากกว่ารองเท้าสตั๊ดประเภท FG (Firm Ground) และปุ่มจะค่อนข้างสั้น เพื่อการกระจายน้ำหนักจากเท้าสู่ปุ่ม ซึ่งรองเท้าที่มีปุ่มชนิดนี้ได้ พัฒนามาจากปุ่มสตั๊ดของรองเท้าประเภท FG (Firm Ground) โดยปุ่ม HG (Hard Ground) ถูกออกแบบมาสำหรับ เหมาะกับสนามพื้นสนามที่แข็ง ถึงแข็งมากเป็นพิเศษ และ สนามหญ้าเทียม
ข้อแนะนำ : เหมาะที่จะใส่เล่นในสนามหญ้าเมืองไทยที่ดินแข็ง หญ้าสั้น หรือ ใช้กับสนามหญ้าเทียม
4. AG (Artificial Grass/Ground) จะมีลักษณะของปุ่มสตั๊ดค่อนข้างสั้น หรือเป็นปุ่มลักษณะพิเศษ เช่น ปุ่มโดนัท AG ของ Nike ที่กระจายอยู่ทั่วบนพื้นรองเท้า ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่รับแรงและกระจายน้ำหนักจากเท้าสู่ปุ่ม ทำให้ลดอาการปวดเมื่อย ข้อเข่า ข้อเท้า กับ น่อง เหมาะกับสนามหญ้าเทียมที่ปัจจุบันนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน
ข้อแนะนำ : เหมาะที่จะใส่เล่นในสนามหญ้าเทียม ด้วยปุ่มที่สั้นและกระจายอยู่ทั่วบนพื้นรองเท้า ทำให้ไม่รู้สึกถึงแรงกระแทกจากพื้นช่วยลดอาการปวดเมื่อย ข้อเข่า ข้อเท้า กับ น่อง
5. TF (Turf) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ รองเท้า100ปุ่ม ” เป็นรองเท้าที่ใช้สำหรับสนามหญ้าเทียม ลักษณะของปุ่มสตั๊ดจะเป็นพื้นยางที่มีการพิมพ์ปุ่มเล็กๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วบนพื้นรองเท้า ช่วยยึดเกาะสนามได้ดี อีกทั้งยังลดอาการปวดเมื่อย ข้อเข่า ข้อเท้า กับ น่อง
ข้อแนะนำ : เหมาะที่จะใส่เล่นในสนามหญ้าเทียม ด้วยปุ่มที่สั้นและกระจายอยู่ทั่วบนพื้นรองเท้า ช่วยลดอาการปวดเมื่อย ข้อเข่า ข้อเท้า กับ น่อง แต่ด้วยปุ่มที่สั้นทำให้ไม่สามารถที่จะจิกปลายเท้าเพื่อช่วยในการออกตัว หรือเวลาเบรคอาจลื่นบ้างถ้าสนามหญ้าเทียมที่มีเม็ดยางเยอะ
6. Indoor ( Indoor Court ) เป็นรองเท้าที่ถูกออกแบบมาสำหรับใช้บนพื้นถนน พื้นปูน คอร์ท สนามในร่ม สนามฟุตซอล ซึ่งเป็นพื้นสนามที่มีพื้นผิวเรียบ และแข็งมากเป็นพิเศษ รองเท้าประเภทนี้มีจุดเด่นอยู่ที่พื้นรองเท้าที่มีลักษณะเป็นดอกยางที่ให้ความยืดหยุ่นและการยึดเกาะเพื่อการเปลี่ยนทิศทางที่รวดเร็วบนพื้นสนามในร่ม นอกจากนี้ บริเวณด้านหัวรองเท้าจะมีพื้นผิวที่มีลักษณะคล้ายกระดาษทรายซึ่งจะช่วยในการยิงแบบเข็มฉีดยา ซึ่งเป็นเทคนิคการทำประตูในการเล่นฟุตซอล และ ยังช่วยการควบคุมลูกฟุตบอล การจ่ายบอลด้วยหน้าเท้า ให้ความแม่นยำมากขึ้น
ข้อแนะนำ : เหมาะที่จะใส่เล่นในสนามที่มีพื้นผิวเรียบ และ แข็ง เช่น พื้นปูน คอร์ท สนามในร่ม สนามฟุตซอล
Leave a comment
Your email address will not be published. Required fields are marked *